เมื่อเจ้าตัวเล็กอยากเจาะหู
5.4.2021
การเจาะหูดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เมื่อเจ้าตัวน้อยของคุณพ่อคุณแม่เอ่ยปากอยากเจาะหูเมื่อไหร่ จะต้องเตรียมตัวอย่างไร?
สถานที่เจาะ กระบวนการเจาะ คุณภาพของต่างหูที่ใช้ แล้วยังเรื่องการดูแลหลังการเจาะอีกล่ะ รายละเอียดที่ต้องใส่ใจดูจะมีไม่น้อยเลย แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป นูยูมีเคล็ดไม่ลับสำหรับคุณพ่อคุณแม่มาฝากกันค่ะ
เจาะหูเมื่อไหร่จึงเหมาะสม
คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัวนัก บางวัฒนธรรมอาจเจาะหูให้เด็กตั้งแต่ยังแบเบาะ ในขณะที่บางครอบครัวเลือกที่จะรอให้เด็กโตขึ้นมาสักหน่อย แต่ไม่ว่าจะเจาะในช่วงอายุใด การดูแลแผลหลังการเจาะก็ยังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอันดับแรกๆ ที่เราไม่ควรละเลย หากเด็กโตจนรู้ความแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจสอนวิธีการดูแลหลังการเจาะแบบง่ายๆ เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการดูแลแผลไปพร้อมกัน
กว่าแผลจะหาย ต้องใช้เวลา
แม้หลังเจาะราว 6 สัปดาห์จะสามารถเปลี่ยนต่างหูเป็นคู่ใหม่ได้ แต่กว่าแผลจะหายสนิทดีจะใช้เวลานานกว่านั้น ความอดทนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำอะไรสักอย่างเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่อาจตั้งกติกาที่เด็กสามารถทำได้เองโดยไม่ลำบากขึ้นมาสักข้อ เช่น จะพาไปเจาะหูเมื่อลูกสามารถดูแลห้องนอนให้สะอาดเรียบร้อยเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเป็นการพิสูจน์ความตั้งใจระยะยาวได้อย่างง่ายๆ
เลือกร้านเจาะหูที่ไว้ใจได้
ร้านสะอาด น่าเชื่อถือ มีกระบวนการเจาะที่ปลอดภัยและอ่อนโยนต่อผิวบอบบางของเด็กคือสิ่งที่ควรพิจารณา ต่างหูที่แนะนำให้ใช้ควรทำมาจากวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว คือเป็น Nickel free หรือ Nickel safe ซึ่งมีค่าของนิเกิลเจือปนอยู่ในมาตรฐานตามที่ US FDA กำหนด อาทิ ไทเทเนียม หรือสแตนเลสเกรดเครื่องมือแพทย์
สำหรับเด็กเล็ก ขณะทำการเจาะอาจปล่อยให้นั่งบนตักคุณพ่อหรือคุณแม่เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าปลอดภัย และคอยระวังไม่ให้เด็กเคลื่อนไหวไปมา ซึ่งจะทำให้การเจาะแม่นยำ และใช้เวลารวดเร็วยิ่งขึ้น
ดูแลแผลตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
หลังการเจาะสามารถอาบน้ำสระผมได้ตามปกติ แต่ควรล้างคราบสบู่แชมพูออกให้สะอาดและซับแผลให้แห้งอยู่เสมอ แป้นด้านหลังควรอยู่ในตำแหน่งของร่องล็อคแป้นตรงปลายก้านต่างหูพอดี ไม่ดันเข้ามาจนแน่นชิดติดหลังใบหู เพื่อให้แผลยังมีพื้นที่ให้อากาศได้ถ่ายเทเพื่อลดความอับชื้น งดการสัมผัสแผลบ่อยๆ ระหว่างวัน และไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลโดยตรง
การเจาะหูในเด็กไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งก่อนและหลังการเจาะ หน้าที่หลักคงต้องเป็นของคุณพ่อคุณแม่ในการสังเกตความพร้อม และคอยดูแลแผลให้ลูกน้อยหลังการเจาะอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบ และแผลเจาะก็จะได้หายดีได้โดยไวอีกด้วยค่ะ